วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556




มรรคมีองค์ 8 หรือ มรรค 8 ประการ
มรรค (ภาษาสันสกฤต : มรฺค; ภาษาบาลี : มคฺค) คือ หนทางถึงความดับทุกข์ เป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจ  ประกอบด้วยกรอบการปฏิบัติ 8 ประการด้วยกัน เรียกว่า "มรรคมีองค์แปด" หรือ "มรรคแปด" (อัฏฐังคิกมรรค) โดยมีรายละเอียดดังนี้
          สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึง การ    ปฏิบัติอย่างเหมาะสมตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
          สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม
          สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึง การพูดต้องสุภาพ พูดในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม
          สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง
          สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน ไม่คดโกง เอาเปรียบผู้อื่น
          สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม
          สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
          สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลส นิวรณ์อยู่เป็นปกติ




  สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นตามอย่างถูกต้องที่ยังมีกิเลสหมักหมมที่ต้องทำการกำจัดกิเลสนั้นเพื่อให้เป็นส่วนแห่งบุญเป็นผลแก่ขันธ์ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ) โดยมีความเห็นที่ถูกตรงดังนี้
  ( จากมหาสติปัฏฐานสูตรเล่ม ๑๒ นั้นชี้ชัดว่า สัมมาทิฏฐิคือความเห็นว่าชีวิตนี้เป็นก้อนแห่งทุกข์ เพราะมีสาเหตุแห่งทุกข์ มีสภาวะที่ไม่มีทุกข์อยู่ และสุดท้ายก็มีวิธีการที่จะดำเนินการให้พ้นทุกข์นั่นเอง อันคือมรรคมี องค์ ๘ นั่นเอง )
 ๑. ทานที่ทานแล้วมีผล (อัตถิทินนัง ) คือการทานสิ่งของหรือธรรมทาน ที่มีผลต่อจิตใจให้เกิดการละ หรือลดความโลภแล้วเห็นผลทานนั้นเกิดขึ้นกับจิตใจของตนเองว่า การทานนั้นทำให้เราสุขใจที่เห็นคนที่รับการทานนั้นเป็นสุขตามสภาวะนั้นอย่างแท้จริง เพราะเพื่อให้เราลดความยึดติดในทรัพย์ภายนอกที่ทำให้เราเกิดทุกข์อย่างไม่รู้จบสิ้นนั่นเอง
 ๒. ยัญพิธีที่บูชาแล้วมีผล (อัตถิยิฏฐัง ) ตือการกระทำพิธีการใดๆ หรือพิธีการใดๆ เพื่อให้เราเดินทางอย่างถูกตรง เพื่อให้เราพ้นจากทุกข์แห่งชีวิตนั่นเอง เช่นการทานส่ิงของข้อที่ ๑ หรือการรักษาศีลทุกข้อแห่งพุทธ ก็คือพิธีการ หรือยิฏฐังนั่นเอง
 ๓. สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล (อัตถิหุตัง )คือการกระทำการใดๆทั้งสิ้น เพราะหมายความว่าการกระทำการใดๆอันมีผลให้เราได้เดินทางออกจากความทุกข์แห่งชีวิตได้นั่นเอง นั่นย่อมหมายความว่า  ๓ ข้อนี้มีความเกี่ยวข้องกัน คือ ระหว่างการทานหรือการสละออก เพราะเราเป็นทุกข์นั้นก็เพราะอุปาทานเอาไว้กับชีวิต กับจิตเรานั่นเอง  หรือข้อ ๒ คือวิธีการหรือพิธีการต่างเพื่อเดินทางออกจากทุกข์นั่นแหละคือการบวงสรวง หรือวิธีการ หรือพิธีการ เพื่อให้เราลดการยึดติด เพื่อเดินทางออกจากทุกข์เป็นหมวดแรก
 ๔. ผลของวิบากกรรมที่ทำดีทำชั่ว มีผล (อัตถิสุกตทุกกฎานัง กัมมานัง ผลัง วิปาโก ) สำหรับข้อนี้เราผู้เป็นพุทธย่อมเชื่อว่าการทำดีทำชั่วย่อมสั่งสมผลลงสู่จิตของเราอยู่ทั้งสิ้น เพราะเราเชื่อในกรรม ๕ ของพุทธศาสนาอย่างแน่นอน เช่น ฆ่าสัตว์ก็คือฆ่าสัตว์ ถ้าสัตว์โกรธ อาฆาต พยาบาท ก็ย่อมพยาบาทอาฆาตเราผู้ฆ่านี่เอง เราเองก็ต้องรับการอาฆาตพยาบาท จองเวรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง เอาให้ใครรับแทนก็ไม่ได้ เมื่อทำดีก็ย่อมรับผลดีเช่นเดียวกัน
 ๕.โลกนี้มี (อัตถิ อยัง โลโก)โลกนี้มีถ้าจากการอธิบายคงไม่ยาก เพราะโลกนี้ก็คือโลกที่เราอยู่อาศัย หรือมีชีวิตอยู่นี้  แต่ในส่วนที่ต้องเดินทางออกจากทุกข์ก็เพราะโลกเก่าที่พระพุทธเจ้าหมายถึงก็คือโลกที่เป็นทุกข์นั่นเอง และ
 ๖.โลกหน้ามี (อัตถิ ปโรโลโก )โลกหน้ามี ถ้าต้องอธิบายก็คือโลกหน้าในที่นี้ก็คือโลกที่เราพ้นออกมาจากความทุกข์แล้วมามีสถานะใหม่ หรืออยู่โลกใหม่ที่เกิดหลังจากปฏิบัติธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนั่นเอง ซึ่ง ข้อ ๔ ,,และ๖นี้คือความเกี่ยวข้องกันในการปฏิบัติ คือถ้าทำชีวิตอยู่เท่าเดิมก็ได้อยู่โลกเก่า ถ้าทำชีวิตแบบปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าก็จะได้อยู่โลกใหม่นั่นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าตายจากชาตินี้แล้วไปอยู่โลกใบใหม่หรอก เพราะพระพุทธเจ้าท่านเองท่านก็ปรินิพพานตอนสุดท้ายท่านก็ไม่ได้ไปสร้างโลกใหม่รอเราหรอก แต่ท่านบอกให้เราออกจากโลกของความทุกข์มาอยู่โลกที่เป็นสุขในชาตินี้นี่เอง ต้องดู ๓ ข้อต่อไป
 ๗. มารดามี (อัตถิมาตา )ข้อนี้อธิบายเอาไว้ว่าแม่ในการเกิดมีชีวิตนี้ พระพุทธเจ้าท่านว่าสัตว์แต่ละตัวนั้นเกิดแล้วตายกระดูกกองรวมกันเท่าภูเขาเวปุลบรรพต แต่ก็ไม่สามารถออกจากทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นเราเองต้องตามไปดูความลึกซึ้งของคำสอนว่าแม่ในที่นี้ก็คือแม่ที่ทำให้เราเกิดใหม่นั่นเอง
 ๘.บิดามี (อัตถิปิตา)ข้อนี้ก็คงเช่นเดียวกันกับข้อที่ ๗ เพราะธรรมดาสัตว์ หรือพืชย่อมอาศัยความเป็นแม่กับพ่อเป็นที่อาศัยเกิด หรือทำให้เกิด เราก็เห็นๆอยู่โดยความรู้ทั่วไป หรือพระพุทธเจ้าไม่สอนเราก็รู้ว่าพ่อแม่นั้นมีอยู่จริง แต่พ่อแม่ทางธรรมนี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเองที่จะทำให้เราเกิดใหม่ ไปดูข้อต่อไป คือ
 ๙.สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ มี (อัตถิสัตตาโอปปาติกา ) จากข้อเกิดนี้จะเห็นว่าพระพุทธเจ้านั้นสอนเรื่องการเกิด ๔ อย่างเอาไว้ชัด และข้อที่ ๔ ท่านก็ว่าการเกิดแบบสัตตาโอปปาติกะนี่เอง คือการผุดเกิดขึ้นของสัตว์ หรือจิต และการเกิดการตายอย่างนี้เกิดตายอย่างไม่มีซากไม่ต้องฝังศพ หรือเผาผี แต่ผุดเกิดเป็นสัตว์ใหม่เลย ก็คือข้อที่ ๙นี่เอง
  ก็เพราะท่านได้อ้างเอาไว้ว่าสัมมาทิฏฐิ คือการเห็นอย่างถูกต้องใน ทุกข์ ในสมุทัย ในนิโรธ ในมรรค ก็คือ เราเห็นตามท่านว่าชีวิตของเรานี้กองแห่งทุกข์ และมีสาเหตุคือกิเลส ตัณหา อุปปาทานนั่นเอง และเราจะหมายเอานิโรธ เราเองก็ต้องปฏิบัติตามมรรค หรือทางที่จะปฏิบัตินั่นเอง และเพื่อการเดินทางออกจากทุกข์ก็คือการเห็นอย่างถูกต้อง หรือสัมมาทิฏฐิ ตามทางมาเป็นลำดับ เป็นปริวัตตมาเรื่อยๆนั่นเอง และโดยเฉพาะข้อต่อไปเป็นข้อที่
  ๑๐.คือ สมณพราหมณ์ทั้งหลายที่ดำเนินถูกต้อง ปฏิบัติถูกตรงซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้า เพราะรู้ด้วยตนเอง ในโลกนี้มีอยู่ (อัตถิโลเกสมณพราหมณา สัมมัคตา สัมมาปฏิปันนา เยอิมัญจโลกัง ปรัญจโลกัง สยัง อภิญญา สัจฉิกัตวา ปเวเทนตีติ ) ข้อนี้ล่ะคือความสำคัญ ถ้าเราไม่รู้ไม่เห็นผู้รู้ในข้อที่๑๐ นี้ เราเองจะไม่มีโอกาสรู้ว่าข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๙ นั้นมีลำดับการปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกตรงนั่นเอง เราต้องหาให้เจอ และตรวจสอบโดยทฤษฎีของพุทธศาสนาให้ได้ เพื่อเราจะได้ไม่เสียโอกาสในการเกิดเป้นคน และเป็นคนที่อยู่ในช่วงของพุทธศาสนา ที่ตั้งใจจะศรัทธา ที่ตั้งใจจะปฏิบัติตาม ตั้งใจที่จะรับผลแห่งการเรียนรู้ การปฏิบัติอย่างถูกตรง อย่างเห็นได้เป็นปัจจัตตังให้ได้นั่น ก็ควรจะเปิดจิตเพื่อรับความรู้แห่งพุทธนี้ตามบุญบารมีของเราให้ได้
   
          สัมมาสังกัปปะ หมายถึง ดำริชอบ หรือความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง เป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด
สัมมาสังกัปปะ มี 3 อย่าง ได้แก่
เนกขัมมสังกัปป์ (หรือ เนกขัมมวิตก) คือ ความดำริที่ปลอดจากโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ไม่หมกมุ่นพัวพันติดข้องในสิ่งสนองความอยากต่างๆ ความคิดที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความคิดเสียสละ และความคิดที่เป็นคุณเป็นกุศลทุกอย่าง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากราคะหรือโลภะ
อพยาบาทสังกัปป์ (หรือ อพยาบาทวิตก) คือ ดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริที่ไม่มีความเคียดแค้น ชิงชัง ขัดเคือง หรือเพ่งมองในแง่ร้ายต่างๆ โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม คือเมตตา กรุณาซึ่งหมายถึงความปรารถนาดี ความมีไมตรี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโทสะ
อวิหิงสาสังกัปป์ (หรือ อวิหิงสาวิตก) คือ ดำริในอันไม่เบียดเบียน ไม่มีการคิดทำร้ายหรือทำลายด้วยความไม่รู้ เพราะคึกคะนอง ทำโดยไม่มีความโลภหรือความโกรธมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม ปัญญาคือเข้าใจโลกนี้ตามความเป็นจริง รู้ชัดในกฎแห่งกรรม หรือมีสามัญสำนึกในสิ่งที่ถูกต้องดีงามเอง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโมหะ
กุศลวิตก 3 ประการนี้ ไม่กระทำความมืดมน กระทำปัญญาจักษุ กระทำญาณ ยังปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน

          สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึง การพูดต้องสุภาพ พูดในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม
     สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ วจีสุจริต4 (เว้นจาก วจีทุจริต4)
งดเว้นจากการพูดเท็จ
งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
     หลักธรรมเกี่ยวกับสัมมาวาจา
-ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก
-ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้น แล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน
-ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษเพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
-ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำ ที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐานมีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร รู้จักมิจฉาวาจาว่ามิจฉาวาจา รู้จักสัมมาวาจาว่าสัมมาวาจา ความรู้นั้น เป็น สัมมาทิฐิ

          สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง
สัมมากัมมันตะ เป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด กระทำชอบ ทำการชอบ คือ การกระทำที่เว้นจากความประพฤติชั่วทางกาย 3 อย่าง อันได้แก่
-การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
-การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้
-การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

          สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน ไม่คดโกง เอาเปรียบผู้อื่น
-สัมมาอาชีวะเป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด
เลี้ยงชีพชอบ หมายถึงการทำมาหากินด้วยอาชีพที่สุจริต
-ฆราวาส สัมมาอาชีวะ หมายถึง การเว้นมิจฉาอาชีวะ อันได้แก่ การเลี้ยงชีพไม่ชอบ คือการแสวงหาปัจจัยมาบริโภคที่มิชอบ คือการโกงหรือหลอกลวง เว้นการประจบสอพลอ การบีบบังคับขู่เข็ญ และการต่อลาภด้วยลาภ หรือก็คือการแสวงหาลาภโดยไม่ประกอบด้วยความเพียร (สัมมาวายามะ ) คือขี้เกียจ อยากได้มาง่ายๆโดยไม่อาศัยกำลังแห่งสติปัญญาและแรงกาย ซ้ำโลภจนไม่ชอบธรรม เช่น เบียดเบียนลูกจ้าง และทำลายสิ่งแวดล้อม สังคม เพื่ออย่างได้มาก เสียให้น้อย
-รวมถึงการไม่ประกอบมิจฉาอาชีวะ 5 ประเภท ดังนี้
1.สัตถวณิชชา คือ การขายอาวุธ ได้แก่ อาวุธปืน อาวุธเคมี ระเบิด นิวเคลียร์ อาวุธอื่น ๆ เป็นต้น อาวุธเหล่านี้หากมีเจตนาเพื่อทำร้ายกัน จะก่อให้เกิดการทำลายล้างซึ่งกันและกัน โลกจะไม่เกิดสันติสุข
2.สัตตวณิชชา หมายถึง การค้าขายมนุษย์ ได้แก่ การค้าขายเด็ก การค้าทาส ตลอดจนการใช้แรงงานเด็กและสตรีอย่างทารุณ รวมถึงการขายตัวหรือขายบริการทางเพศ
3.มังสวณิชชา หมายถึง ค้าขายสัตว์เป็น สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหารเป็นการส่งเสริมให้ทำผิดศีลข้อที่ 1 คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
4.มัชชวณิชชา หมายถึง การค้าขายน้ำเมา ตลอดจนการค้าสารเสพติดทุกชนิด
5.วิสวณิชชา หมายถึง การค้าขายยาพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ รวมทั้งเป็นอันตรายต่อสัตว์
          บรรพชิต (นักบวช)สัมมาอาชีวะ หมายถึง การใช้ชีวิตด้วยการบริโภคปัจจัยสี่ อย่างมักน้อย จำเป็น ถ้าเป็นนักบวชที่อยู่ด้วยการขอ ต้องรักษาปัจจัยสี่ของทายกอย่างดี เพื่อให้คุ้มค่าต่อผู้ให้ ไม่เบียดเบียน และไม่เสพสิ่งที่นอกเหนือจากปัจจัยสี่โดยไม่จำเป็นเช่นกามคุณ 5 เพราะแม้ไม่เสพกามคุณ มนุษย์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ สัมมาอาชีวะของผู้บวชคือไม่เสพบริโภคเกินจำเป็น เช่น ดูการละเล่น แต่งตัว เป็นต้น ตลอดจนเสพยาเสพติด
          
         สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม
สัมมาวายามะเป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด เพียรชอบ เกิดฉันทะพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้
-เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น
-เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว
-เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น
-เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว
          การจะเกิดสัมมาสติ ต้องอาศัยความเพียรพยายามกำหนดสติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นสัมมาสมาธิ ดังนั้นสัมมาวายามะจึงต้องมีอยู่หน้าสัมมาสติ

          สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
สัมมาสติ คือการมีสติกำหนดระลึกรู้อยู่เป็นนิจว่า กำลังทำอะไรอยู่ กำหนดรู้สภาวะที่เกิดขึ้นจริงในขณะปัจจุบัน ในสภาวะทั้ง 4 คือ กาย เวทนา จิต และธรรม ตามความจำกัดความแบบพระสูตร คือหลักธรรมที่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ แบ่งออกเป็น 4 คือ
1.กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในกาย
2.เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในเวทนา
3.จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในจิต
4.ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในธรรม คือ สัญญา(ความนึก)และสังขาร(ความคิด)

          สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลส นิวรณ์อยู่เป็นปกติ 

สัมมาสมาธิ แปลว่า สมาธิชอบ คือความตั้งใจมั่นโดยถูกทาง โดยการที่กุศลจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว (ความตั้งมั่นแห่งกุศลจิตในในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน)เข้าถึง ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และ จตุตถฌาน (จิตตั้งมั่นในฌานทั้ง 4 นี้ ส่วนอรูปฌาน)ทั้ง4ท่านจัดเข้าในจตุตถฌาน ตามอารมณ์ที่อรูปฌานมีเจตสิกที่เข้ามาประกอบในจิต คือ อุเบกขาเจตสิกและเอกัคคตาเจตสิก เช่นเดียวกับจตุตถฌาน


     ความแตกต่างของสมาธิและสัมมาสมาธิ
1.คำว่าสมาธิ กับคำว่า สัมมาสมาธิ มีความแตกต่างกัน สมาธิได้แก่การถือเอา อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ทำให้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์นั้น แบบสมถะสมาธิ สัมมาสมาธินั้น เป็นสมาธิที่มีรากฐานจากการกำหนดรู้ ในมหาสติปัฏฐานทั้ง 4 คือกาย เวทนา จิต ธรรม
2.อริยมรรค 8 คือหนทางแห่งการดำรงชีวิตอย่างรู้แจ้ง มีสติเป็นพี้นฐานด้วยการฝึกสติสามารถพัฒนาสมาธิจิตซึ่งจะช่วยให้บรรลุถึงปัญญา เพราะ สัมมาสมาธิจึงสามารถบรรลุถึงสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ และสัมมาวายามะ ปัญญาความเข้าใจซึ่งพัฒนาขึ้นนั้นสามารถกำจัดความไม่รู้ (อวิชชา) ได้ในที่สุด
     ลักษณะของสัมมาสมาธิ
 1.จิตสงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากกรรมที่เป็นอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก
2.เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึงทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ
3.เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย มีสติ อยู่เป็นปรกติสุข เข้าถึงตติยฌาน
4.เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา